งบประมาณ 2567

โครงการ การเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยมหาสารคามโดยความร่วมมือของคณะเทคโนโลยี และคณะการบัญชีและการจัดการ ได้ดำเนินโครงการ การเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันตลาดสัตว์นํ้าประเทศไทยมีความต้องการปลานิลจำนวนมาก โดยจังหวัดมหาสารคามถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลานิลแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัญหาในการเพาะเลี้ยงปลานิล คือ เกษตรกรมักประสบภัยแล้งทำให้ไม่มีน้ำพียงพอต่อการเลี้ยงแบบหนาแน่น ทำให้ปลามีอัตราการรอดตํ่า ทำให้สูญเสียผลผลิตไปจำนวนมาก ดังนั้น โครงการครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมการเลี้ยงปลานิลระบบไบโอฟลอค ซึ่งเป็นระบบที่ใช้น้ำน้อยโดยลดความถี่ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการรอด และเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ปลานิลได้ ให้แก่เกษตรกรบ้านสันติสุข และบ้านดำรงพัฒนา ตำบลนาเชือก  อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้เกษตรกรได้มีระบบเลี้ยงปลานิลที่ลดการใช้น้ำ และถูกตามมาตรฐาน โดยเป็นระบบที่ต้นทุนต่ำ ราคาถูก ติดตั้งได้ง่าย และทำความสะอาดได้ง่าย ทั้งนี้มีการดำเนินกิจกรรมโครงการดังนี้
– ศึกษาดูงานการเลี้ยงปลาไบโอฟลอค
– อบรมเชิงปฏิบัติการสร้างบ่อเลี้ยงปลานิลด้วยระบบ ไบโอฟลอคพร้อมใช้งาน
– การอนุบาลลูกปลาในกระชังเพื่อเตรียมเลี้ยงในระบบไบดอฟลอค
– อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเตรียมจุลินทรีย์ในระบบไบโอฟลอคอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจวัดคุณภาพน้ำ
– อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอค
ผลการดำเนินโครงการ พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมจำนวน 30 ราย จากจำนวนนี้มีเกษตรกรต้นแบบที่นำองค์ความรู้การเลี้ยงปลาไบโอฟลอคไปใช้จริง จำนวน 7 ราย โดยเกษตรกรต้นแบบสามารถติดตั้งบ่อเลี้ยงปลาได้ สามารถเตรียมจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดระบบไบโอฟลอคได้ ตรวจสอบคุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยงได้ ตรวจสอบปริมาณไบโอฟลอคได้ และเกษตรกรทราบหลักเกณฑ์การเพาะเลี้ยงปลาโดยระบบการเลี้ยงไบโอฟลอคได้อย่างถูกต้อง โดยเกษตรกรต้นแบบสามารถผลิตปลานิลจากระบบไบโอฟลอคได้