โครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เกษตรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ้านปลาบู่
มหาวิทยาลัยมหาสารคามโดยความร่วมมือของคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านปลาบู่ ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดจากภัยพิบัติ (แล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม) และเพื่อเพิ่มรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลลัพธ์จากการวิจัยนี้ไปใช้ในการวางแผนเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรม หรือ ส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านอื่นๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มีการดำเนินกิจกรรมโครงการในการพัฒนา ดังนี้
1. วิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อน้ำและดินเค็มในพื้นที่ทางการเกษตรตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
2. จัดทำแผนที่เสี่ยงด้านน้ำและดินเค็มในพื้นที่ทางการเกษตร ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
3. จัดทำแอพพลิเคชัน “Water and Soil Salinity in agricultural Area : WSSA” ที่ใช้ในการตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรสำหรับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. พัฒนาและปรับปรุงดินด้วยการใช้ชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียกลุ่มสนับสนุนการเจริญเติบโตของพืชในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในสภาวะที่มีน้ำจำกัด
ผลจากการเข้าไปพัฒนาชุมชน ทำให้ชุมชนมีแผนที่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้งาน 3 แผนงาน ได้แก่ 1) แผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติน้ำเค็ม 2) แผนที่พื้นที่ดินเค็ม และ 3) แผนที่ทางการเกษตรที่มีความเหมาะสมในการเพาะปลุก รวมทั้งมีแอพพลิเคชัน “Water and Soil Salinity in agricultural Area : WSSA” ที่ใช้ในการตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรหรือเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า สำหรับประชาชนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ใช้ได้ต่อไป อีกทั้งยังเกิดการพัฒนาและปรับปรุงดินด้วยการใช้ชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียกลุ่มสนับสนุนการเจริญเติบโตของพืชในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในภาวะที่มีน้ำจำกัด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นแปลงต้นแบบการใช้ชีวภัณฑ์ จำนวน 3 ราย